ประเทศจีนมีมานานถึง 5 พันปี วัฒนธรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวจีนก็มีมายาวนานไม่แพ้กัน ซึ่งในระยะเวลา 5 พันปีมานั้น ชาวจีนได้รับอิทธิพลเครื่องแต่งกายจากชนกลุ่มน้อย เผ่าต่าง ๆ ในประเทศจีน รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกายเสื้อผ้าของชาวต่างชาติ ผสมผสานกันจนเป็นลักษณะพิเศษของการแต่งกายชาวจีนในยุคนั้น ๆ ซึ่งการแต่งกายของชาวจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
วัฒนธรรมจีนการเรียกชื่อสกุลของชาวจีนตรงกันข้ามกับภาษาไทย คือเรียกต้นด้วยชื่อสกุล ชื่อตัวใช้เรียกกันในหมู่ญาติ และเพื่อนสนิท โดยปกติชาวจีนมักไม่ทักทาย ด้วยการจับมือหรือจูบเพื่อร่ำลา
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ชาวจีนมีเครือข่ายคนรู้จัก ( เหมือนกับการมีเส้นสายในไทย ) กล่าวกันว่าชาวจีนที่ไร้เครือข่ายคนรู้จัก เป็นผู้ที่เป็นจีนเพียงครึ่งเดียว จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกับผู้คนชาวต่างชาติ ซึ่งทำธุรกิจในประเทศจีน ดังนั้นควรให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมนี้ด้วยการเชื้อเชิญ
ภาษาแมนดารินเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่นอีกจำนวนมาก เช่น ภาษากวางตุ้ง แต้จิ๋ว เซี่ยงไฮ้ แคะ ฮกเกี้ยน เสฉวน หูหนาน ไหหลำ เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีนแบบย่อ (Simplified Chinese) มีอักษรทั้งหมด 56,000 ตัว ใช้ประจำ 6,763 ตัว ถ้ารู้เพียง 3,000 ตัว ก็อ่านหนังสือพิมพ์และทั่วไปได้
วันหยุดของประเทศจีน
1 มกราคม : วันขึ้นปีใหม่
กุมภาพันธ์ : วันตรุษจีน ( กำหนดวันในแต่ละปีไม่ตรงกัน )
8 มีนาคม : วันสตรีสากล
1 พฤษภาคม : วันแรงงานสากล
4 พฤษภาคม : วันเยาวชน
1 มิถุนายน : วันเด็ก
1 กรกฎาคม : วันก่อตั้งพรรคคอมมินิสต์
1 สิงหาคม : วันก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน
1 ตุลาคม : วันชาติ (สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ จีนมีชัยชนะในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กหมินตั๋ง)
อาหารจีน
ศิลปะและมาตรฐานการปรุงอาหารจีนจัดว่ามีชื่อเสียงในระดับโลก จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าอาหารจีนมีมากกว่าหมื่นชนิดและมีวิธีการปรุงอาหารมีมากกว่า 40 วิธีตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์จีน อาหารในภูมิภาคต่างๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นอาหารประจำท้องถิ่นที่มีรสชาติเฉพาะตัว อาหารประจำท้องถิ่นที่โดดเด่นมีอยู่ 8 กลุ่มด้วยกัน คือ อาหารซานตง อาหารเสฉวน อาหารกวางตุ้ง อาหารเจียงซู อาหารเจ้อเจียง อาหารฮกเกี้ยน อาหารหูหนานและอาหารอานฮุน อาหารจีนในกลุ่มอาหารท้องถิ่นทั้ง 8 ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เป่ยจิงข่าวยา(เป็ดปักกิ่ง) ฝัวเที่ยวเฉียง(พระกระโดดกำแพง) กงเป่าจีติง(ไก่ผัดเผ็ด) โค่วโจ่วจึ(ขาหมูนึ่งซีอิ๊ว) หลงจิ่งซยาเหริน(ผัดกุ้งแช่ชาหลงจิ่ง) หมาผอโต้วฝุ(ผัดเผ็ดเต้าหู้คุณยาย) ซีหูชู่อี๋ว์(ปลาซีหูเปรี้ยวหวาน) ซยาเหรินหนิวหลิ่ว(ผัดกุ้งกับเนื้อวัวแผ่น)และซ่วนโร่วหั่วกัว(เนื้อจิ้มจุ่มหม้อไฟ) เป็นต้น
"เจี่ยวจือ" หรือเกี๊ยวเป็นอาหารที่มีความเป็นมากว่าพันปี เกี๊ยวเป็นอาหารที่คนจีนนิยมรับประทานกันมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลตรุษจีน การรับประทานเกี๊ยวในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นประเพณีปฏิบัติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีน
"หยวนเซียว" หรือบัวลอยสอดไส้แบบจีนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ทังหยวน" หยวนเซียวเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยนำแป้งข้าวเหนียวมาปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วสอดไส้หวานไว้ข้างใน เนื่องจากหยวนเซียวมีรูปร่างเหมือนพระจันทร์ ทั้งการดื่มน้ำของขนมหยวนเซียวร้อนๆ ยังเป็นการคลายความหนาวได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นหยวนเซียวจึงถือเป็นขนมประจำเทศกาลหยวนเซียวซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย และเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของคำว่า "ถวนหยวน" ซึ่งหมายถึงการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
ตะเกียบ
ไคว่จึ หรือ ตะเกียบนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าอย่างหนึ่งของจีน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในระดับโลก ตะเกียบได้รับการขนานนามจากชาวตะวันตกว่าเป็น "อารยธรรมของโลกตะวันออก" คนจีนเริ่มใช้ตะเกียบตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซางหรือนานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน ตะเกียบมีชื่อเรียกว่า "挟" (jiā, จยา) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่นเรียกตะเกียบว่า "箸" (zhù, จู้) แต่เนื่องจากคนจีนสมัยโบราณเชื่อถือเรื่องโชคลาง จึงถือว่าคำว่า "จู้" ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่า "住" (zhù, จู้) ที่หมายถึง หยุด มีความหมายไม่เป็นมงคล ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า "筷" (kuài, ไคว่) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า "เร็ว" แทน และนี่ก็คือที่มาของชื่อเรียกของตะเกียบในภาษาจีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น